ลำดับเหตุการณ์ ของ แผนลับ 20 กรกฎาคม

ก่อนวันที่ 20 กรกฎาคม

ที่รัสเทินบวร์ค วันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 ชเตาเฟินแบร์คอยู่ซ้าย ฮิตเลอร์อยู่กลาง ไคเทิลอยู่ขวา ผู้ที่กำลังเขย่ามือฮิตเลอร์ คือ พลเอก คาร์ล โบเดินชัทซ์ ซึ่งภายหลังได้รับบาดเจ็บสาหัสจากระเบิดของชเตาเฟินแบร์ค

วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 ชเตาเฟินแบร์คได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาธิการของพลเอกอาวุโสฟร็อมที่สำนักงานใหญ่กำลังรักษาดินแดนที่เบนด์เลอร์ชตรัสเซอกลางกรุงเบอร์ลิน ตำแหน่งนี้เปิดโอกาสให้เขาสามารถเข้าร่วมการประชุมทางทหารของฮิตเลอร์ได้ ไม่ว่าที่รังหมาป่าในปรัสเซียตะวันออกหรือแบร์ชเทิสกาเดิน ฉะนั้นจะให้โอกาสเขา ซึ่งอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่ปรากฏขึ้น ในการฆ่าฮิตเลอร์ด้วยระเบิดหรือปืนพก ขณะเดียวกัน กลุ่มต่อต้านได้พันธมิตรสำคัญคนใหม่ ซึ่งรวมพลเอก คาร์ล-ไฮน์ริช ชตึลพ์นาเกิล ผู้บัญชาการทหารเยอรมันในฝรั่งเศส ผู้จะควบคุมกรุงปารีสเมื่อฮิตเลอร์ถูกฆ่าแล้ว และหวังว่าจะเจรจาการสงบศึกทันทีกับกองทัพสัมพันธมิตรที่กำลังรุกเข้ามา

แผนลับเตรียมการสมบูรณ์แล้ว วันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 พลเอกชตีฟฟ์ มีแผนฆ่าฮิตเลอร์ที่การจัดแสดงเครื่องแบบใหม่ที่ปราสาทเคลสส์ไฮม์ใกล้ซาลซ์บูร์ก ทว่า ชตีฟฟ์ไม่สามารถฆ่าฮิตเลอร์ ขณะนี้ชเตาเฟินแบร์คตัดสินใจกระทำสองอย่าง คือ ทั้งลอบสังหารฮิตเลอร์ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใด และจัดการแผนลับในกรุงเบอร์ลิน วันที่ 11 กรกฎาคม ชเตาเฟินแบร์คเข้าร่วมการประชุมของฮิตเลอร์โดยพกระเบิดไว้ในกระเป๋าเอกสารของเขา ในแผนการครั้งนี้ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ แห่งองค์การเอ็สเอ็ส และจอมพลไรช์แฮร์มัน เกอริง แห่งกองทัพอากาศ จำเป็นต้องถูกฆ่าไปพร้อมกันด้วยเพื่อเปิดทางให้ปฏิบัติการวาลคีรีมีโอกาสสำเร็จ อย่างไรก็ตาม แผนครั้งนี้เป็นอันล้มไปเพราะฮิมเลอร์ไม่อยู่ อันที่จริง ฮิมเลอร์แทบไม่ค่อยเข้าร่วมประชุมทหารเลย[8]

ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม ชเตาเฟินแบร์คบินมายังรังหมาป่าอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เงื่อนไขทุกอย่างลงล็อก โดยมีแผนคือ ให้ชเตาเฟินแบร์ควางกระเป๋าเอกสารที่มีระเบิดอยู่ในห้องประชุมของฮิตเลอร์โดยตั้งตัวจับเวลาไว้ ขอตัวปลีกจากการประชุม รอระเบิด แล้วบินกลับมายังกรุงเบอร์ลินและเข้าร่วมผู้ก่อการคนอื่นที่เบ็นท์เลอร์บล็อก จากนั้น จะเริ่มปฏิบัติการวาลคีรี กำลังรักษาดินแดนจะยึดการควบคุมเยอรมนีและจับผู้นำนาซีคนอื่น พลเอกอาวุโสเบ็คจะได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขแห่งรัฐชั่วคราว เกอร์เดอเลอร์จะเป็นนายกรัฐมนตรี และจอมพลวิทซ์เลเบินจะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด อย่างไรก็ตาม แผนการในครั้งนี้ถูกยกเลิกไปในนาทีสุดท้าย แม้ฮิมเลอร์และเกอริงเข้าประชุมด้วย แต่ฮิตเลอร์ถูกเรียกออกจากห้องในขณะสุดท้าย ชเตาเฟินแบร์คสามารถขัดขวางระเบิดและป้องกันไม่ให้ถูกตรวจพบได้[8]

วันที่ 17 กรกฎาคม รถทหารของจอมพลแอร์วีน ร็อมเมิล ถูกเครื่องบินสปิตไฟร์กราดยิงในประเทศฝรั่งเศส เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยการบาดเจ็บที่ศีรษะ

20 กรกฎาคม

การลอบสังหาร

สภาพห้องประชุมที่ถูกวางระเบิดตำแหน่งโดยประมาณของผู้เข้าร่วมประชุมในขณะที่เกิดระเบิดในห้องประชุมขึ้น

วันที่ 18 กรกฎาคม มีข่าวลือถึงหูชเตาเฟินแบร์คว่าตำรวจเกสตาโพทราบข่าวการคบคิดและเขาอาจถูกจับกุมได้ทุกเมื่อ แม้จะพิสูจน์ได้ชัดว่าข่าวดังกล่าวเป็นเท็จ แต่เขาก็รู้สึกว่าภัยกำลังคืบใกล้เข้ามาและต้องฉวยโอกาสต่อไปฆ่าฮิตเลอร์เพราะอาจไม่มีโอกาสต่อไปอีกแล้ว เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 20 กรกฎาคม ชเตาเฟินแบร์คบินกลับรังหมาป่าเพื่อเข้าร่วมประชุมทางทหารของฮิตเลอร์อีกครั้งหนึ่ง โดยมีระเบิดอยู่ในกระเป๋าเอกสารเช่นเดิม แต่การประชุมหนนี้จัดขึ้นในกระท่อมแทนบังเกอร์เนื่องจากอากาศที่ร้อน

ราว 12.30 น. การประชุมเริ่มขึ้น ชเตาเฟินแบร์คขอตัวใช้ห้องน้ำในสำนักงานของจอมพลไคเทิล และเขาได้ใช้คีมกระแทกปลายตัวจุดระเบิดดินสอสอดเข้าไปในแท่งระเบิดพลาสติก 1 กิโลกรัมซึ่งห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาล ตัวจุดระเบิดประกอบด้วยหลอดทองแดงบาง ๆ ที่มีคอปเปอร์คลอไรด์ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10 นาทีกัดกร่อนสายที่รั้งเข็มแทงชนวนไว้จากเพอร์คัสชันแค็ป (percussion cap) จากนั้น เขาบรรจุระเบิดที่เตรียมแล้วลงในกระเป๋าเอกสารอย่างรวดเร็ว เพราะเขาได้รับคำสั่งให้กลับเข้าประชุม ระเบิดบล็อกที่สองถูกคู่ยึดไว้ ไม่ได้ใส่ลงไปในกระเป๋าเอกสาร เขาเข้าห้องประชุมและพันตรี แอนสท์ โยน ฟ็อน ไฟรเอนด์ วางกระเป๋าเอกสารของชเตาเฟินแบร์คใต้โต๊ะซึ่งฮิตเลอร์และนายทหารอีกกว่า 20 นายประชุมอยู่โดยไม่รู้ตัว[18][19] ไม่กี่นาทีต่อมา ชเตาเฟินแบร์คได้รับโทรศัพท์ที่วางแผนล่วงหน้าและออกจากห้อง สันนิษฐานว่าพันเอก ไฮนซ์ บรันดท์ ใช้เท้าเลื่อนกระเป๋าเอกสารไปด้านข้างโดยผลักไปอยู่หลังขาโต๊ะประชุม ฉะนั้น จึงสะท้อนแรงระเบิดจากฮิตเลอร์แต่ทำให้เขาเสียชีวิตและเสียขาไปข้างหนึ่งเมื่อระเบิดจุดระเบิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ระหว่างเวลา 12.40 น. และ 12.50 น. ระเบิดทำงาน[20] และพังห้องประชุมพินาศ นายทหารสามนายและนักชวเลขได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตจากนั้นไม่นาน ฮิตเลอร์รอดชีวิต เช่นเดียวกับคนอื่นที่ได้ขาโต๊ะประชุมรับแรงระเบิดไว้ กางเกงขายาวของฮิตเลอร์ถูกเผาและขาดรุ่งริ่ง และเยื่อแก้วหูเขาทะลุ เช่นเดียวกับผู้รอดชีวิตคนอื่นส่วนใหญ่ในห้อง 24 คน[20] หากวางระเบิดไว้ในบล็อกที่สอง เป็นไปได้ว่าทุกคนที่เข้าประชุมจะเสียชีวิตทั้งหมด

หลบหนีและบินไปยังเบอร์ลิน

ทหารกำลังถือกางเกงที่ฮิตเลอร์สวมระหว่างความพยายามลอบสังหารที่ไม่เป็นผล[21]

ในขณะที่กำลังเดินไปที่รถยนต์ ชเตาเฟินแบร์คได้ยินเสียงระเบิดและเห็นควันลอยออกจากหน้าต่างที่แตกของโรงทหารคอนกรีตนั้น ก็เชื่อว่าฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้ว จึงโดดขึ้นรถทหารของเขาพร้อมนายทหารผู้ช่วย ร้อยโทแวร์เนอร์ ฟ็อน เฮ็ฟเทิน และหลอกผ่านด่านตรวจสามแห่งก่อนออกจากรังหมาป่า จากนั้นร้อยโทเฮ็ฟเทินได้โยนแท่งระเบิดลูกที่สองที่ไม่ได้ใช้และยังไม่ได้แทงเข็มแทงชนวนเข้าไปในป่า ขณะเร่งรุดไปยังสนามบินรัสเทินบวร์คทันก่อนทราบว่าชเตาเฟินแบร์คอาจรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดดังกล่าว เมื่อเวลา 13.00 น. เขานั่งเครื่องไฮน์เคิล เฮอ 111 ที่พลเอกแอดวร์ท วากเนอร์ จัดเตรียมไว้ให้

เมื่อเครื่องบินของชเตาเฟินแบร์คถึงกรุงเบอร์ลินเมื่อเวลาราว 16.00 น.[22][23] พลเอกเอริช เฟ็ลล์กีเบิล นายทหารที่รังหมาป่าซึ่งอยู่ในแผนลับด้วย โทรศัพท์ถึงเบ็นท์เลอร์บล็อกและบอกผู้ก่อการว่าฮิตเลอร์รอดชีวิตจากการระเบิด ผลคือ การระดมปฏิบัติการวาลคีรีจะไม่มีโอกาสสำเร็จเมื่อนายทหารกำลังรักษาดินแดนทราบว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ มีความสับสนยิ่งขึ้นอีกเมื่อเครื่องบินของชเตาเฟินแบร์คลงจอดและเขาโทรศัพท์จากสนามบินและว่าแท้จริงฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้ว[24] ผู้ก่อการที่เบนด์เลอร์บล็อกไม่รู้จะเชื่อใครดี สุดท้ายเมื่อเวลา 16.00 น. อ็อลบริชท์ออกคำสั่งให้ดำเนินปฏิบัติการวัลคือเรอ ทว่าพลเอกอาวุโสฟร็อมผู้ลังเลโทรศัพท์หาจอมพลวิลเฮล์ม ไคเทิลและได้รับการยืนยันว่าฮิตเลอร์รอดชีวิต ไคเทิลต้องการทราบที่อยู่ของชเตาเฟินแบร์ค ซึ่งเป็นการบอกฟร็อมว่ามีการสืบแผนลับมาถึงสำนักงานใหญ่ของเขาแล้ว และเขาอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง ฟร็อมตอบไปว่าเขาคิดว่าชเตาเฟินแบร์คอยู่กับฮิตเลอร์ [25]

ขณะเดียวกัน คาร์ล-ไฮน์ริช ฟ็อน ชตึลพ์นาเกิล ผู้ว่าการทหารในดินแดนยึดครองฝรั่งเศส จัดการปลดอาวุธเอสเดและเอ็สเอ็ส และจับตัวผู้นำส่วนใหญ่ได้ เขาเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของกึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอและขอให้เขาติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทว่า เขาได้รับแจ้งว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่[24] เวลา 16.40 น. ชเตาเฟินแบร์คและเฮ็ฟเทินมาถึงเบ็นท์เลอร์บล็อก พลเอกอาวุโสฟร็อมเปลี่ยนฝ่ายและพยายามจับตัวชเตาเฟินแบร์ค ซึ่งเข้าใจว่าพยายามปกป้องตัวเอง ออลบริชและชเตาเฟินแบร์คจึงใช้ปืนกักขังเขาไว้ แล้วอ็อลบริชท์แต่งตั้งให้พลเอกเอริช เฮิพแนร์ ปฏิบัติหน้าที่แทนเขา

ถึงขณะนี้ ฮิมเลอร์เข้าควบคุมสถานการณ์และออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งดำเนินการปฏิบัติการวัลคือเรอของอ็อลบริชท์ ในหลายพื้นที่ รัฐประหารยังดำเนินไป นำโดยนายทหารซึ่งเชื่อว่าฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้ว ในกรุงเบอร์ลิน พลเอก เพาล์ ฟ็อน ฮาเซอ หัวหน้านครและผู้ก่อการ ออกคำสั่งกองพลโกรสทดอยท์ชลันด์ ภายใต้บังคับบัญชาของพันตรี อ็อทโท แอ็นสท์ เรเมอร์ ยึดวิลเฮล์มสตรัสเซอและจับตัวรัฐมนตรีโฆษณาการ โยเซฟ เกิบเบิลส์[26] ในกรุงเวียนนา กรุงปราก และอีกหลายแห่ง ทหารยึดครองสำนักงานพรรคนาซีและจับกุมเกาไลเทอร์และนายทหารเอ็สเอ็สไว้

รัฐประหารล้มเหลว

เวลาประมาณ 18.00 น. ผู้บัญชาการมณฑลทหาร (แวร์ไครส์) ที่สาม (เบอร์ลิน) พลเอกโยอาคิม ฟ็อน คอร์ทซไฟลช์ ถูกเรียกตัวมายังเบ็นท์เลอร์บล็อก แต่เขาปฏิเสธคำสั่งของอ็อลบริชท์อย่างโกรธเคืองและเอาแต่ตะโกนว่า "ท่านผู้นำยังมีชีวิตอยู่"[27] ดังนั้นเขาจึงถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้ พลเอกไฟรแฮรร์ ฟ็อน ทึนเกินได้รับแต่งตั้งแทนที่ แต่เขาช่วยได้น้อยมาก พลเอก ฟริทซ์ ลินเดมันน์ ซึ่งน่าจะออกประกาศแก่ชาวเยอรมันทางวิทยุ แต่เขาไม่อยู่และเนื่องจากเขาเป็นผู้ถือสำเนาประกาศฉบับเดียว เบ็คจึงต้องร่างคำประกาศใหม่[28]

ทหารและองค์การเอ็สเอ็สที่เบ็นท์เลอร์บล็อก

เวลาแตกหักมาถึงเมื่อเวลา 19.00 น. เมื่อฮิตเลอร์ฟื้นตัวเพียงพอจะโทรศัพท์ เขาโทรหาเกิบเบลส์ที่กระทรวงโฆษณาการ เกิบเบลส์จัดแจงให้ฮิตเลอร์คุยกับพันตรีเรแมร์ ผู้บังคับบัญชาทหารที่ล้อมกระทรวงอยู่ หลังจากยืนยันแล้วว่าเขายังมีชีวิตอยู่ ฮิตเลอร์สั่งให้เรแมร์ควบคุมสถานการณ์ในกรุงเบอร์ลินอีกครั้ง พันตรีเรแมร์สั่งให้ทหารของเขาล้อมและปิดเบนด์เลอร์บล็อก แต่ไม่เข้าไปในอาคาร [26] เมื่อเวลา 20.00 น. วิทซ์เลเบินผู้โกรธจัดมาถึงเบ็นท์เลอร์บล็อกและมีการโต้เถียงอย่างขมขื่นกับชเตาเฟินแบร์ค ผู้ยังยืนยันว่าสามารถดำเนินรัฐประหารต่อไปได้ จากนั้นไม่นานวิทซ์เลเบินก็ออกไป เวลาใกล้เคียงกันนี้ การยึดอำนาจที่วางแผนไว้ในกรุงปารีสถูกยกเลิกเมื่อจอมพล กึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอ ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดทางตะวันตก ทราบว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่

เมื่อเรแมร์เข้าควบคุมสถานการณ์ในกรุงเบอร์ลินและข่าวสะพัดไปว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ สมาชิกที่ไม่ค่อยเด็ดเดี่ยวของการคบคิดในกรุงเบอร์ลินเริ่มเปลี่ยนฝ่าย มีการต่อสู้ในเบ็นท์เลอร์บล็อกระหว่างนายทหารที่สนับสนุนและคัดค้านรัฐประหาร และชเตาเฟินแบร์คได้รับบาดเจ็บ เมื่อเวลา 23.00 น. ฟร็อมกลับเข้าควบคุม และหวังว่าการแสดงความภักดีอย่างออกนอกหน้าจะช่วยเขาได้ เมื่อเบ็คทราบว่าสถานการณ์สิ้นหวัง ยิงตัวตาย เป็นผู้ฆ่าตัวตายคนแรกในหลายวันให้หลัง แม้ทีแรกเบ็คเพียงแค่ทำให้ตัวบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น เขาถูกทหารยิงที่คอ ฟร็อมจัดศาลทหารเฉพาะหน้าอันประกอบด้วยตัวเขาเอง และพิพากษาลงโทษประหารชีวิตอ็อลบริชท์ ชเตาเฟินแบร์ค เฮ็ฟเทิน และอ็อลบริชท์ แมร์ทซ์ ฟ็อน เควียร์นไฮม์ นายทหารอีกคน เมื่อเวลา 00.10 น. ชอองวันที่ 21 กรกฎาคม พวกเขาถูกประหารชีวิตในลานด้านนอก ซึ่งอาจเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาเปิดเผยการมีส่วนของฟร็อม[29] มีผู้อื่นจะถูกประหารชีวิตอีกเช่นกัน แต่เมื่อเวลา 00.30 น. เอ็สเอ็สนำโดยออทโท สกอร์เซนีมาถึงและห้ามประหารชีวิตเพิ่ม

แหล่งที่มา

WikiPedia: แผนลับ 20 กรกฎาคม http://www.atypon-link.com/OLD/doi/pdf/10.1524/VfZ... http://www.cbcpnews.com/?q=node/9249 http://books.google.com/?id=xoTWkzhf2uUC&pg=PA361&... http://histclo.com/essay/war/swc/force/wehr/res/wr... http://www.imdb.com/name/nm0102778/ http://www.imdb.com/title/tt0043461/ http://www.imdb.com/title/tt0047790/ http://www.imdb.com/title/tt0062038/ http://www.imdb.com/title/tt0100376/ http://www.imdb.com/title/tt0102778/